Shopping Cart

No products in the cart.

SUZUKI บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นคู่คนไทยประกาศปิดโรงงานผลิตภายในสิ้นปี 2568 ตามกฎหมายแรงงานบริษัทต้องปฏิบัติอย่างไรจึงผ่านเส้น Safe Zone

แบ่งปันเพื่อนๆ หรือ แชร์เก็บไว้ดูเอง

เมื่อบริษัท Suzuki ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นคู่คนไทยมาอย่างยาวนานประกาศปิดตัวลงภายในช่วงสิ้นปี 2568 พร้อมประกาศปลดพนักงานกว่า 800 คนและเตรียมตัวจัดการมาตรการเยียวยาพนักงานให้มากที่สุด แต่สังคมต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “สงสารเหล่าพนักงาน” “

หากถามว่าตามกฎหมายแรงงาน เมื่อบริษัทต้องยุติการให้บริการหรือปิดตัวลง และต้องปลดพนักงานออก
“บริษัทต้องปฏิบัติและชดเชยอย่างไรถึงผ่านเส้น Safe Zone ของกฎหมายแรงงาน” … เรามาดูคำตอบกันค่ะ

เมื่อนายจ้างจำเป็นต้องปิดกิจการ จะต้องทำหนังสือแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งงวดค่าจ้าง เช่น กำหนดปิดกิจการวันที่ 30 มิถุนายน ก็ต้องประกาศภายในวันที่ 30 พฤษภาคม โดย 1 เดือนที่เราบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เอาให้ Safe สุด เราควรบอกก่อนวันที่จ่ายค่าจ้างประจำเดือนด้วยค่ะ แต่หากไม่ได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1 เดือนด้วยค่ะ

นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนายจ้างยังต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้กับพนักงาน ดังนี้…
– ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 30 วัน
– ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้เงินชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน
– ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้เงินชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 180 วัน
– ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ได้เงินชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 240 วัน
– ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้เงินชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 300 วัน
– ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้เงินชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 400 วัน

ทั้งนี้อย่าลืมคำนวณสิทธิ์วันลาพักร้อนคงเหลือของพนักงาน โดยให้จ่ายเป็นเงินคืนให้พนักงานในกรณีที่พนักงานใช้สิทธิ์ไม่หมดด้วยนะคะ

ส่วนประเด็นว่า แล้วบริษัทฯ ต้องจ่ายเงินค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น หากเป็นกรณีที่นายจ้างประสบปัญหาขาดทุนสะสมมายาวนานจนทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งนายจ้างจำเป็นต้องเลิกจ้าง และขั้นตอนการเลิกจ้างก็เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการพยายามปรับโครงสร้างแล้ว หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว ก็อาจเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่ตรงข้ามถ้านายจ้างไม่ได้ประสบปัญหาขาดทุนจริง เพิ่งขาดทุนปีแรก หรือขาดทุนจริงแต่เลิกจ้างโดยเลือกปฏิบัติ กรณีนี้นายจ้างอาจต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นก็คำนวณจากพฤติการณ์สาเหตุของวิธีการเลิกจ้าง ความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับอายุลูกจ้าง ดูข้อเท็จจริงหลายอย่างประกอบกันไปค่ะ

ดังนั้นถ้าให้แองจี้แนะนำ หัวใจสำคัญของการบริหารเกี่ยวกับการเลิกจ้าง คือ “การสื่อสาร” หากบริษัทมีความชัดเจนของเหตุผล และมีการชี้แจงถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสิทธิ์ที่พนักงานพึงได้รับตามกฎหมาย และบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ปัญหาข้อพิพาทด้านแรงงานก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

แบ่งปันเพื่อนๆ หรือ แชร์เก็บไว้ดูเอง

Leave a Reply